ขึ้นรถไฟแอ่วเมืองลำปาง แวะเช็คอิน “สะพานดำ” มนต์ขลังทางประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต

ลมหนาวมาแล้ว อย่ารอช้า !! ขึ้นรถไฟแอ่วเมืองลำปาง แวะเช็คอิน “สะพานดำ” มนต์ขลังทางประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต แลนด์มาร์คน้องใหม่ของลำปาง

เข้าสู่ช่วงปลายปี ช่วงที่หลายท่านเริ่มแพ็คกระเป๋าเพื่อออกเดินทางท่องเที่ยว….. โดยในทุกปีภาคเหนือของไทย ยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอ ด้วยขึ้นชื่อว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสอากาศหนาวเย็นสดชื่น ส่งท้ายปี แต่หากจะเดินทางท่องเที่ยวให้ได้อรรถรสครบถ้วน ก็ต้องยกให้บริการขนส่งสุดคลาสสิคอย่าง “รถไฟ” ที่ไม่เพียงแต่จะนำไปยังปลายทางอย่างปลอดภัยแล้ว นักท่องเที่ยวจะยังได้สัมผัสกับอากาศ บรรยากาศ และวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ ตลอด 2 ข้างทางที่รถไฟเคลื่อนผ่านอีกด้วย
จังหวัดในภาคเหนือ ที่ขบวนรถไฟของเราจะพานักท่องเที่ยวทุกท่านไปเยือนในครั้งนี้ ก็คือ จังหวัดลำปาง เมืองรถม้า จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะไปไหว้พระธาตุลำปางหลวง ชมธรรมชาติบนอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน หรือจะแวะ ช้อปกระจายรายได้ที่กาดกองต้า เป็นต้น แต่วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่อาจจะยังไม่คุ้นหูคนทั่วไป แต่รับประกันได้ถึงความคุ้มค่า น่ามาเยือน สถานที่แห่งนี้ก็คือ “สะพานดำ” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง
สะพานดำหรือสะพานรถไฟจังหวัดลำปาง เป็นสะพานเหล็กแบบโครงสี่เหลี่ยมคางหมู 5 ช่วง เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนในพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นสะพานประวัติศาสตร์คู่บ้าน คู่เมือง มากว่า 105 ปี ตัวสะพานพาดข้ามแม่น้ำวัง อยู่ระหว่างสถานีรถไฟนครลำปาง กับ สถานีรถไฟบ่อแฮ้ว ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากการต่อขยายทางรถไฟจากลำปางไปเชียงใหม่ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2459 และถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังคงสภาพสมบูรณ์ จึงถูกบูรณะใหม่ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง โครงสะพานจะทาสี 6 ชั้นเพื่อกันสนิมตามมาตรฐานของการรถไฟฯ มีสีดำเป็นชั้นนอกสุด จึงกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกติดปากกันว่า “สะพานดำ” นั่นเอง
ปัจจุบันสะพานดำยังคงมีรถไฟวิ่งผ่านทุกวัน และการรถไฟฯ ได้บูรณะสะพานดำและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเรียบร้อยแล้วสำหรับแผนงานในระยะที่ 1 ถูกพัฒนาพื้นที่ ปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามตามนโยบายความร่วมมือของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย ตัวสะพานดำที่อยู่เหนือแม่น้ำวัง ตัดกับสีของท้องฟ้าทั้งยามเช้าและยามเย็น จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพ โดยเฉพาะการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งของคู่รัก และจะมีการดำเนินการแผนงานระยะที่ 2 โดยได้วางแผนงานที่จะพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ และเป็นพื้นที่สำหรับสันทนาการสำหรับชาวลำปาง รวมถึงนักท่องเที่ยว โดยมุ่งหวังให้พื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นแหล่งศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด สร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนและสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนและเป็นการตอกย้ำว่า การรถไฟฯ อยู่คู่ชุมชนและประชาชนตลอดไป
นโยบายการผลักดันสะพานดำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่จังหวัดลำปางมากขึ้น เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดและช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ สำหรับใครที่ยังไม่มีแผนรับลมหนาวที่ไหนในช่วงปลายปีนี้ แนะนำเตรียมเสื้อหนาๆ และลองนั่งรถไฟมาเที่ยวจังหวัดลำปาง แวะเช็คอินที่สะพานดำ รับลมหนาว ไปพร้อมๆกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น ผ่านสถาปัตยกรรมอันสวยงามของสะพานดำแห่งนี้

ข้อมูลการเดินทาง
สะพานดำ ตั้งอยู่ใกล้กาดเก๊าจาว ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง ห่างจากสถานีรถไฟนครลำปาง 1 กิโลเมตร โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถไฟ ไปยังสถานีนครลำปาง เดินลัดเลาะเส้นทางวัฒนธรรมกาดเก๊าจาว ด้วยเวลาเพียง 10 นาทีก็ถึงแล้ว สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทรศัพท์สายด่วน 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง

เวลาขบวนรถไฟ (ให้บริการทุกวัน)
เที่ยวไป
ขบวน 7 ออกกรุงเทพ 08.30 น. ถึงลำปาง 17.30 น.
ขบวน 109 ออกกรุงเทพ 13.45 น. ถึงลำปาง 01.54 น.
ขบวน 9 ออกกรุงเทพ 18.10 น. ถึงลำปาง 04.57 น.
ขบวน 13 ออกกรุงเทพ 19.35 น. ถึงลำปาง 06.30 น.
เที่ยวกลับ
ขบวน 102 ออกลำปาง 08.27 น. ถึงกรุงเทพ 21.10 น.
ขบวน 8 ออกลำปาง 10.38 น. ถึงกรุงเทพ 19.25 น.
ขบวน 10 ออกลำปาง 20.12 น. ถึงกรุงเทพ 06.50 น.
ขบวน 14 ออกลำปาง 19.24 น. ถึงกรุงเทพ 06.15 น.

ขอบคุณ ทีมประชาสัมพันธ์ จากไลน์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ รฟท.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *