5 จชต. เน้นย้ำกำชับสกัดกั้นไวรัสมรณะ “โอไมครอน” เล็ดลอดจากเพื่อนบ้านเข้าไทย

วันนี้ 30 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องแถลงข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จังหวัดปัตตานี พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก ศบค.ส่วนหน้า เปิดเผยผลจากการเร่งรัดปฏิบัติการเชิงรุกในทุกมิติภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ สามารถฉีดวัคซีนในภาพรวมได้แล้วเฉลี่ยร้อยละ 61.67 เพิ่มขึ้นจากห้วงก่อนจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ร้อยละ 16.71 โดยมีความคืบหน้าของสถานการณ์ล่าสุดในการประชุม ศบค.ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 692 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 204,609 ราย, รักษาหายแล้ว 180,850 ราย, ยอดเสียชีวิตสะสม 1,469 ราย เฉลี่ยร้อยละ 0.72 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศร้อยละ 0.26 โดยพบว่าจังหวัดที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยมากที่สุดคือ จ.สตูล 1.05% รองลงมาคือ จ.ปัตตานี 0.97% และน้อยสุดคือ จ.สงขลา 0.42% ทั้งนี้พบว่าผู้เสียชีวิตรายใหม่ 2 ราย (28 พ.ย. 64) เป็นผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนคิดเป็นร้อยละ 100 สำหรับผลการตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 โดย ATK ในรอบ 7 วัน พบมีผลเป็นบวกเฉลี่ยร้อยละ 6.89 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.18 โดยพบจังหวัดที่มีผลตรวจเป็นบวกมากที่สุดคือ จ.ยะลา คิดเป็นร้อยละ 11.11 รองลงมาคือ จ.สงขลา ร้อยละ 9.45 และน้อยสุดคือ จ.สตูล คิดเป็นร้อยละ 4.21 ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงร้อยละ 42.3 น้อยกว่าห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 19.97 ทั้งนี้เนื่องจากยอดรักษาหายมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ และมีการปรับเพิ่มรูปแบบรักษาแบบศูนย์แยกกักตัวชุมชน (CI) และรักษาตัวที่บ้าน (HI) มากขึ้นคงเหลือเตียงว่าง 11,919 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ
ทางด้านความคืบหน้าการฉีดวัคซีนปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เฉลี่ยร้อยละ 61.67 เพิ่มขึ้นจากห้วงสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 0.79 เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดคือ จ.สงขลา ร้อยละ 73.81 (+56,606), จ.ยะลา ร้อยละ 62.44 (-41,444), จ.สตูล ร้อยละ 55.42 (-47,270), จ.นราธิวาส ร้อยละ 51.25 (-150,799) และ จ.ปัตตานี ร้อยละ 50.83 (-142,473) ตามลำดับ โดยพบว่ายังมีอำเภอที่มีผลการฉีดวัคซีนต่ำกว่า ร้อยละ 40 จำนวน 4 อำเภอประกอบด้วย อ.ยะรัง, อ.ยะหริ่ง, อ.มายอ และ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ในขณะที่มีผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียนภาพรวม ร้อยละ 70.64 ทั้งนี้พบว่ากลุ่มโต๊ะครูและผู้ช่วยรวมทั้งนักเรียนในสถาบันการศึกษาปอเนาะมีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก คิดเป็นร้อยละ 52.69 และร้อยละ 8.48 ตามลำดับ
สำหรับมาตรการรองรับการเตรียมเปิดประเทศ ผลจากการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าดำเนินการในทุกมิติ ทั้งการรณรงค์เข้ารับการฉีดวัคซีน, การจัดชุดปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ATK และการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ (CCRT) ตลอดจนการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกและการเสียชีวิตลดลงมาโดยลำดับ แต่ยังไม่สามารถรณรงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้โดยมียอดที่ต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 325,380 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหากไม่สามารถฉีดได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้อาจส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 และการเปิดการเรียนแบบ On Site โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนและสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีผลการฉีดวัคซีนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก และผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 ครั้งที่ 19/2564 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.64 ได้มีการปรับลดระดับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
(สีแดง) พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการผ่อนคลายการดำเนินกิจการ/กิจกรรมหลายอย่าง แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวทั้ง 3 ระยะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล เว้น อ.เมือง, อ.หาดใหญ่และ อ.สะเดา จ.สงขลา ที่จะเปิดเป็นพื้นที่นำร่องระยะที่ 2 ตั้งแต่ 16 ธ.ค.64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติภายใต้หลักเกณฑ์ความพร้อมจากสถานการณ์โควิดของพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนได้ตามเกณฑ์และการประเมินตนเอง โดย จ.สงขลา จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้ทันตามห้วงเวลาที่กำหนด รวมทั้งจะต้องเคลียร์โรงแรมที่ถูกใช้เป็นสถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป สำหรับ จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ยังคงจำเป็นต้องเร่งรัดรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ได้ตามเกณฑ์ ทั้งจังหวัดหรือบางพื้นที่, ขับเคลื่อนติดตามและกำกับตามมาตรการ Covid Free Setting และผ่านการประเมินตนเองเพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการผ่อนคลายรองรับการเปิดประเทศและเปิดการเรียนแบบ On Site ตามที่ได้กำหนดไว้ในโอกาสต่อไป
แนวโน้มการเปิดพื้นที่นำร่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทางศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 เพื่อกำหนดมาตรการไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนคาดหวังคือการเปิดพื้นที่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยจากการประเมินเรื่องของความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังพบปัญหาอยู่บางประการ ซึ่งส่งผลให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการเปิดพื้นที่ โดยที่ประชุม สบค.ส่วนหน้า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ covid-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการประสานกำชับให้ทุกจังหวัดกำหนดโมเดลของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรฐานการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงมาตรการ covid free setting ให้เป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการพิจารณาปัจจัยภายนอก เช่น เรื่องของสภาพของสังคมจิตวิทยา และสถานการณ์ความพร้อมของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าหากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าวได้ การที่จะเปิดให้เป็นพื้นที่นำร่องอาจจะมีความเป็นไปได้ในอนาคต
ซึ่งตลอดระยะเวลา 40 กว่าวันที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ใช้ความพยายามในการทำงานอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทีมแพทย์บุคลากรทางการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการปฏิบัติการเชิงรุกและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ ในการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนนอกจากนี้การสร้างแรงจูงใจเป็นอีกหนึ่งมาตรการ ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเสนอแคมเปญต่างๆ ในการสร้างแรงจูงใจให้กับพี่น้องประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการร่วมกันกับบริษัทห้างร้านต่างๆ ในการเปิดแคมเปญได้รับส่วนลดต่างๆ
จากกระแสข่าวของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่พบว่ามีการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศของทวีปแอฟริกา ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางด้านนายกรัฐมนตรี ท่านมีความกังวลมีกังวล สั่งการเน้นย้ำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการวางมาตรการในการป้องกันเรื่องดังกล่าว สำหรับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการทหารบก ได้เน้นย้ำเรื่องของการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งได้มีการสั่งการให้กองกำลังป้องกันชายแดนได้มีการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้ดำเนินการสกัดกั้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว รวมถึงเฝ้าระวังสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าเกษตรเลี่ยงภาษีรวมไปถึงอาวุธสงคราม ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่พบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *