วัดขุนแสน อีกวัดของอยุธยาที่มีความสำคัญ แต่เสียดายที่น้อยคนจะรู้จัก
วันนี้เป็นอีกวันที่มีโอกาส ได้ผ่านไปทาง ถนนอู่ทอง ทีแรกคิดว่าจะไปใส่บาตรสักหน่อย แต่ดันมาสะดุดตากับวัดตรงริมทางข้างถนน หันไปดูโดดเด่นด้วยเพราะมีเจดีองค์ใหญ่ ตั้งตระง่า ชวนให้อยากรู้จริงๆ ว่าวัดเก่าแห่งนี้ คือวัดอะไร มีที่มาอย่างไรบ้าง ด้วยเพราะบริเวณรอบๆ องค์เจดีย์ จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่โดยรอบ และก็มีบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่รอบๆ แต่สงสัยจะมาเช้าเกินไป เลยไม่ได้เจอใคร ครั้งจะกลับเลย ก็ไม่กล้าก้าวเท้าเดินออกไปจากบริเวณวัดแห่งนี้ ภายใจจิตใจ คอยสั่งสมองว่า ต้องรู้ให้ได้ ต้องรู้ให้ได้ ลองเดินหาอีกรอบสิว่ามีใครพอรู้เรื่องบ้าง ว่านี่คือวัดอะไร ว่าแล้วก็ต้องแพ้ใจตัวเองจนได้ ก็เดินไปเจอพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง กำลังเตรียมข้าวของ เพื่อกราบไหว้ ขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงจุด บริเวณหน้าองค์เจดีย์ ก็ได้ความว่า เจดีย์ องค์นี้ ชื่อว่า วัดชุมแสน เป็นเจดีย์ที่มีมานาน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และที่สำคัญวัดแห่งนี้ เป็นวัดต้นตระกูลราชวงศ์จักรี อีกด้วย ฟังแล้วขนลุก แต่ยิ่งทำให้อยากรู้ไปใหญ่ พี่เขาเลยแนะนำให้รู้จักกับ คุณประเสริฐ วิชิตพงษ์ “ผู้สื่อข่าวอาวุโส เจ้าของหนังสือพิมพ์มวลชน ที่โด่งดังในอดีต” ท่านเริ่มเล่าให้กับทางทีมงานของเราฟังว่า
วัดขุนแสน แห่งนี้มีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ได้ปรากฏเป็นหลักฐาน แต่ได้มีปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าในรัชกาลนี้ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จกลับมาจากเมืองแครงนั้น ได้มีชาวมอญนำโดยพระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติและพระยารามติดตามมาด้วย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาเถรคันฉ่องมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุส่วน พระยาเกียรติ และ พระยาราม ให้อยู่ ตำบลบ้านขมิ้น วัดขุนแสน ซึ่งวัดขุนแสน ดังกล่าวที่ปรากฏนั้นก็คือ วัดขุนแสน แห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบันนั้นเอง แต่ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีสภาพเป็นวัดร้าง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ทรงสืบทราบได้ว่า พระยาเกียรติ และ พระยาราม ทั้งสองพระองค์นั้นมีความสำคัญในฐานะพระบุพการี ของพระบรมราชจักรีวงศ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม เป็นแม่งานเพื่อบูรณะวัดขุนแสนในปลายรัชกาลของพระองค์
แต่เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับนิวาสสถานของ พระยาเกียรติและ พระยาราม เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ครอบองค์เจดีย์เดิม สร้างอุโบสถ ศาลาโถง พร้อมทั้งขุดคูรอบวัดผ่าสันกำแพงเมืองไปออกคลองเมือง 2 สาย แต่ยังไม่ทันสำเร็จ พระองค์ก็ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย เสียก่อน
เมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล และ ทำถนนรอบเมือง จึงถมคูนั้นเสีย ต่อมาจึงได้มีราษฎรเข้าไปปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ในพื้นที่ของ วัดขุนแสน ทับรากฐานโบราณสถาน ทำให้เห็นสภาพเดิมไม่ชัดเจน มีเพียงเจดีย์ 2 องค์ที่เห็นเด่นชัด
พ.ศ. 2484 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดขุนแสนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ตอนที่ 16 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2537 กรมศิลปากร โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ขณะนั้นได้ทำการสำรวจศึกษาเพื่อออกแบบบูรณะ และได้ดำเนินการบูรณะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2539 การบูรณะ ได้ย้ายบ้านเรือนราษฎรที่ปลูกทับโบราณสถานออก ทำให้ปรากฏรากฐานของสิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดเพิ่มเติมขึ้น คือ วิหาร เจดีย์ราย 5 องค์ และแนวกำแพงแก้ว ปัจจุบันวัดขุนแสนได้รับการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงและ ปรับสภาพภูมิทัศน์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนทำกิจกรรมของชุมชนได้ สิ่งก่อสร้างสำคัญในวัดขุนแสนมี ดังนี้
1. เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่สร้างทับซ้อนกัน 2 ชั้น ซึ่งคาดว่าองค์นอกคง สร้างพอกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจดีย์องค์ในเป็นเจดีย์สมัยอยุธยาตอนกลาง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ชั้นนอกคือ ส่วนฐานจะเป็นลานประทักษิณสองชั้นก่อเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ลดหลั่นกันขึ้นไป ชั้นแรกมีความสูงจากพื้นประมาณ 2.50 เมตร ชั้นถัดไปมีความสูงประมาณ 1.80 เมตร ทั้ง 2 ชั้นมีการปูอิฐทั่วลานประทักษิณ เหนือส่วนฐานขึ้นไปเป็นฐานเขียงทรงกลมสองชั้น สร้างลดหลั่นกันขึ้นไป เป็นฐานบัวหงาย แล้วจึงเป็นส่วนของมาลัยเถาสามชั้น และสิ้นสุดลงแค่นี้แสดงว่าสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เจดีย์องค์ในปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนยอด ประกอบด้วยองค์ระฆัง บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม เสาหานทรงกลมและปล้องไฉน
2.วิหาร เหลือแต่รากฐาน เป็นอาคารขนาดกว้าง 16.30 เมตร ยาว 26.20 เมตร ตั้งอยู่ใน แนวเดียวกับเจดีย์ประธาน ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีบันไดทางขึ้นสองข้าง คือ ทางทิศเหนือและทิศใต้เหมือนกันทั้ง 2 มุข มีประตูทางเข้าวิหารสองข้าง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ฐานชุกชีมีขนาดใหญ่และมีร่องรอยการต่อเติมสมัยหลัง ร่องรอยเสาวิหารเป็นเสาแปดเหลี่ยม เช่นเดียวกับเสาพาไลสองข้าง นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของผนังเดิมและผนังใหม่ให้เห็นบางแห่ง วิหารหลังนี้มีชุดฐานปัทม์โดยรอบ
3. เจดีย์ราย เจดีย์รายที่ได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้วมีจำนวน 5 องค์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร 5 องค์ ด้านทิศใต้ของวิหาร 1 องค์ ส่วนใหญ่เหลือเพียงรากฐาน ยกเว้นเจดีย์องค์ทางทิศใต้ ซึ่งยังเหลือส่วนกลางให้เห็นว่าเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีแต่ส่วนบนที่ปรักพังหายไป
4. กำแพงแก้ว มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบวิหารและเจดีย์ราย แนวบางส่วนขาดหายไปสันนิษฐานว่ากำแพงแก้วคงสร้างขึ้นในสมัยหลัง เนื่องจากพบหลักฐานการก่อกำแพงแก้วทับฐานเจดีย์ราย