อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จัดพิธีน้อมรำลึกถึงพ่อ เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต ในหลวง ร.9
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562 เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อาคารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์การทหาร (อนุสรณ์สถานแห่งชาติิ) ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยมีพลโทขจรฤทธิ์ นิลกำแหง รองผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นประธานในพิธี วางพวงมาลาและถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระ บรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในครั้งนี้ ทาง ชมรมไทยสร้างสรรค์พัฒนาสังคม นำโดย พันเอกเขษมวิศว์ (ประกาศิต) สาคุณ ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา สำนักปฏิบัติภารกิจ รักษาความมั่นคงภายในภาค 1 ประธานชมรมไทยสร้างสรรค์พัฒนาสังคม นำคณะกรรมการพร้อมด้วยสมาชิกของชมรมไทยสร้างสรรค์พัฒนาสังคม เข้าร่วมในพิธี ในงานยังมีหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและระลึกถึงพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และในตอนค่ำก็มีพิธีจุดเทียนเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ สร้างขึ้นในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่บูรพมหากษัตริย์และวีระชนไทยผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ ตั้งอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ช่วงถนนวิภาวดีรังสิต บรรจบกับถนนพหลโยธิน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในพื้นที่ 38 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร
ประวัติ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เกิดขึ้นจากดำริของ พลเอก สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตในสงครามต่าง ๆ เช่น อนุสาวรีย์ทหารอาสา เป็นที่ระลึกสำหรับผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สำหรับเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำหรับกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม การปราบปรามผู้ก่อการร้าย มีผู้เสียชีวิตทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพเป็นประจำทุกปี แต่อัฐิของผู้พลีชีพเพื่อชาติเหล่านี้ยังคงเก็บรวบรวมไว้ และยังมิได้จัดสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นอนุสรณ์อย่างสมเกียรติ กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติเป็นส่วนรวม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 เวลา 16.30 น เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 และพระราชทานนามสถานที่นี้ว่า “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ”