ศอ.บต. ประชุมหารือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนในพื้นที่
วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2564) เวลา 09.40 น. ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถนนสุขยางค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่พี่น้องประชาชน โดยมี ผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจน สรรพากรพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานสภาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานหอการค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานชมรมธนาคารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้จัดการธนาคารออมสินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจรจังหวัดยะลา (OSS ยะลา) ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ส่วนสำคัญในวันนี้ได้นำเรียนถึงมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้ช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการ เช่น ในพื้นที่ภาคใต้มีมาตรการส่งเสริมการค้า การลงทุน 3 รูปแบบ ทั้งเมืองต้นแบบ ที่เป็นการช่วยเหลือการลงทุนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ทั้งส่วนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ได้ชี้แจงในเรื่องมาตรการภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งได้ยกเรื่องร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 ปี ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ส่วนใหญ่การชี้แจงในวันนี้เป็นเรื่องของภาษีต่างๆ ที่ลดลงเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและมาตราการทางภาษีและลดค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ โดยมีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรจากการผลิตหรือขานสินค้าหรือการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ นอกจากนี้ยังมี มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการ มาตรการด้านการเงิน โดยจะมีการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. เป็นเวลา 3 ปี สินเชื่อที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ได้ขยายวงเงินสินเชื่อเป็น 8,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.25 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก มาตรการภาษีเพื่อการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการด้านประกันภัย วันนี้ได้มีผู้แทนจากสรรพากรพื้นที่ ผู้แทนจากธนาคารต่างๆ มาร่วมประชุมด้วยเช่นกัน ที่เชิญทุกท่านมาร่วมหารือในวันนี้เพื่อให้เห็นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงื่อนไขต่างๆ และยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการองค์กรปลอดโควิด 3 มาตรการสำคัญ คือ Covid-Free Environment หรือการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโควิด คือการมีสุขอนามัยที่เหมาะสม Covid-Free Personnel หรือพนักงานปลอดโควิด โดยผู้ประกอบการ และพนักงาน ต้องฉีดวัคซีนครบตามเณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และ Covid-Free Customer หรือลูกค้าปลอดโควิด ลูกค้าที่เข้าใช้บริการต้องมีใบรับรองการเข้ารับวัคซีนครบถ้วน โดยในแต่ละสถานประกอบการก็มีโปรโมชั่นต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีโครงการ 2 เข็มไม่เต็มราคา เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการฉีดวัคซีนควบคู่ไปด้วย
สำหรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่ เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาสำหรับมาตราการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและมาตราการทางภาษีและลดค่าธรรมเนียมและสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และ ศอ.บต. ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามภารกิจ ได้ขยายระยะเวลาของมาตราการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากสิ้นสุดมาตรการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยขอขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นเวลา 3 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 โดยมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและมีประกาศตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564