เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นสวนชาวนนทบุรี
“…การเสด็จประพาสครั้งนั้น จึงมิเสด็จโดยกระบวนหลวงอย่างเคยเสด็จเลียบมณฑลมาแต่ก่อน มีแต่เรือพลับพลาพ่วงเรือไฟไป ถ้าจะประทับแรมที่ไหนก็จอดเรือพลับพลาประทับแรมที่นั่น ไม่ให้ปลูกพลับพลาฝาเลื่อน
แต่ถึงกระนั้นมีเรือพลับพลาหลายลำด้วยกันและเป็นเรือขึ้นไปจากกรุงเทพฯ เมื่อกระบวนเรือพลับพลาผ่านไปทางไหน ผู้คนก็รู้ว่าเป็นกระบวนเสด็จที่ตามวัดพระสงฆ์ก็ลงสวดถวายไชยมงคล ตามบ้านเรือนราษฎรก็แต่งตั้งเครื่องบูชารับเสด็จตลอดทาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า เสด็จในเรือพลับพลาไม่เห็นแปลกอันใดกับเสด็จเลียบมณฑลอย่างแต่ก่อนไม่สมกับที่เสด็จไปเที่ยวประพาสเพื่อแต่สำราญพระราชหฤทัยอย่างเดียว
จึงทรงพระราชดำริให้จัดกระบวนใหม่ เรียกกันในพวกที่ตามเสด็จว่า “กระบวนประพาสต้น” คือทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจวอย่างเช่นที่ข้าราชการใช้กันลำหนึ่ง พ่วงเรือไฟเล็กไปแต่ ๒ ลำ เวลาเช้าปล่อยกระบวนเรือพลับพลาให้ตรงไปยังที่ประทับแรม เสด็จในกระบวนประพาสต้นแต่โดยลำพังตามหลังกระบวนเรือพลับพลาไปห่าง ๆ บ้าง บางทีก็แยกไปคนละทาง
เสด็จไปพบที่ไหนเหมาะดังเช่นวัดหนึ่งวัดใด ซึ่งมีศาลาร่มรื่นรโหฐาน ก็จอดแวะเรือพระที่นั่งขึ้นประทับทำเครื่องเสวยเวลากลางวัน เสวยแล้วจึงเสด็จลงเรือประพาสต้น ตามไปยังเรือพลับพลาแรมในเวลาเย็น ๆ เสด็จประพาสอย่างนี้ทุกวันไม่บอกให้ผู้ใดทราบ ผู้คนตามระยะทางจึงเข้าใจว่าเสด็จในกระบวนเรือพลับพลา เวลาเรือกระบวนประพาสต้นไปที่ไหน ก็ไม่มีใครใคร่รู้จัก
ได้ทอดพระเนตรเห็นการงานของราษฎรที่เป็นอยู่ในพื้นเมือง โดยมิได้เตรียมรับเสด็จ และบางทีก็สนทนากับราษฎร ได้ทรงทราบกิจสุขทุกข์ที่เขากราบทูล โดยเขาสำคัญว่าบอกเล่าแก่คนสามัญเกิดประโยชน์ประจักษ์แจ้งแก่พระราชหฤทัยขึ้นด้วยอีกอย่างหนึ่ง จึงพอพระราชหฤทัยในการที่เสด็จอย่างประพาสต้นยิ่งกว่าเสด็จโดยกระบวนหลวง…”
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เสด็จประพาสต้น” โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์ ศิลปาบรรณาคารนี้ บ่งบอกพระราชวิถี และรูปแบบแห่งการเสด็จประพาสต้นของสมเด็จพระปิยมหาราช จากภาพที่เรานำมาให้ชมกันในวันนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี ในครั้งนั้นได้เสด็จเยี่ยมเยือนสวนผลไม้ของชาวนนทบุรี และโปรดให้มีการปรุงอาหารเลี้ยงกันในวันนั้นอีกด้วย
“จุดกำเนิดเสด็จประพาสต้น”
โดย รศ.ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ
ภาพจาก : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ทีมาของเนื้อหาและภาพ G+ นารายณ์อวตาร NARAYAN 6