นรสิงหาวตาร

นรสิงหาวตาร

ศีรษะนรสิงห์ เป็นอีกหนึ่งหน้าโขน นารายณ์สิบปาง ที่น้อยนักจะได้โอกาส
ชื่อ : ศีรษะนรสิงห์
ประเภท : วิจิตรศิลป์ หัวโขน
ลักษณะงาน : หัตถศิลป์ไทย ช่างสิบหมู่
ผลงาน : หัวโขนครูจอม
สรุปสั้นๆ ว่า นรสิงห์เป็นครึ่งคนครึ่งสิงโต คือ มีร่างกายส่วนใหญ่คล้ายคน แต่มีหน้าตาและกรงเล็บเป็นสิงโต คำว่า นรสิงห์ มาจาก นร (คน) + สิงห์ (สิงโต) ภาษาอังกฤษสะกดว่า Narasimha, Narasingh หรือ Narasinga ก็ได้ 

ประวัติ  : อวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ตอนนี้มีชื่อว่า “นรสิงหาวตาร
 อวตารมาเป็นนรสิงห์ในสมัยกฤดายุค เรื่องมีว่ามีอสูรชื่อหิรัณยกศิปุน้องหิรัณยากษะ ได้บำเพ็ญตบะจนพระพรหมประทานให้ คือไม่ตายด้วยอาวุธใด ๆ ไม่ตายในเวลากลางวันหรือกลางคืน ไม่ตายในเรือนหรือนอกเรือน เมื่อได้พรแล้วก็มีความกำเริบก่อความเดือดร้อนแก่เทวและมนุษย์ ยกทัพไปตีได้เมืองสวรรค์ แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าแห่งโลกทั้งสาม ต่อมาพระนารายณ์ในรูปนรสิงห์ได้ออกมาจับพญาอสูรลากออกไปที่กึ่งกลางระหว่างประตูปราสาทกับชานชาลา เวลานั้นเป็นเวลาสนธยา แล้วนรสิงห์ก็ฆ่าพญาอสูรตายด้วยกรงเล็บอันแหลมคม หิรัญยกศิปุ ตายลงด้วยลักษณะที่ไม่เข้ากับพรที่ตนได้รับ

นรสิงหาวตาร (NARASIMHA AVATARA) อวตารปางที่สี่ของพระนารายณ์ตอนนี้มีชื่อว่า “นรสิงหาวตาร” ซึ่งเป็นปางแรกที่พระนารายณ์อวตารลงมาในไตรยุค (Tri Yuga) ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ 2 ของโลกเรา อันเป็นยุคที่ความดีของมนุษย์นั้นเริ่มลดลงเหลือ 3 ใน 4 ส่วน.
คำว่า “นรสิงหาวตาร” นี้มาจากคำ 3 คำมารวมกัน คือ คำว่า “นร (Nara)” ที่หมายถึง คน บวกกับคำว่า “สิงหะ (Simha)” ที่หมายถึง สิงโต และ คำว่า “อวตาร (Avatar)” ที่แปลว่า การเคลื่อนลงมายังโลกของพระนารายณ์ในรูปครึ่งคนครึ่งสิงโตนั่นเอง เหตุการณ์ในตอนนี้เกิดขึ้นหลังจากหิรัณยากษะ (หิรันตยักษ์) ถูกพระนารายณ์ซึ่งเป็นหมูป่าสังหารไปแล้วนั้น พญายักษ์ชื่อว่า “หิรัณยกศิปุ (Hiranyakashipu) ผู้เป็นน้องชายฝาแฝดก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ในหมู่อสูรใต้บาดาลแทนพี่ชาย พญายักษ์ผู้นี้มีจิตใจหยาบช้ากว่าพี่ชายยิ่งนัก ได้บำเพ็ญตบะและขอพรจากพระพรหมว่า
  • ขออย่าให้ตนเองถูกมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายฆ่าเอาให้ตายได้
  • อย่าให้ตายด้วยอาวุธใด ๆ ในสากลโลก
  • อย่าให้ตายในเวลากลางวันหรือกลางคืน
  • อย่าให้ตายในบ้านหรือนอกบ้าน

ซึ่งพระพรหมธาดาก็ทรงประสิทธิ์ประสาทพรให้ตามที่ขอทุกประการ ทำให้พญาหิรัณยกศิปุมีความฮึกเหิมไม่เกรงกลัวผู้ใด แม้แต่พระผู้เป็นเจ้า สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระวิษณุต้องอวตารลงมาเป็นนรสิงห์ เพื่อปราบหิรัณยกศิปุ

        พญายักษ์หิรัณยกศิปุ ตนนี้มีโอรสองค์หนึ่งชื่อว่า “ประหลาทกุมาร” ซึ่งเป็นอสูรที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี มีความจงรักภักดีต่อพระนารายณ์มหาเทพยิ่งนัก ทำให้แนวความคิดของพญาหิรัณยกศิปุนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แลพญายักษ์ก็มีความรักในโอรสยิ่งนัก เรียกได้ว่ารักดังหัวแก้วหัวแหวน ประหลาทกุมารผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรมก็พยายามโน้มน้าวจิตใจของบิดาให้เลิกประพฤติชั่วหันมาทำความดีมีความจงรักภักดีต่อผู้เป็นเจ้า แต่บิดาก็หาได้ฟังไม่เที่ยวเบียดเบียนบีฑาบรรดาทวยเทพทั้งหลายให้เดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง

พระอินทร์จึงชักชวนบรรดาทวยเทพทั้งหลายไปขอร้องให้พระนารายณ์มหาเทพมาช่วยปราบพญาอสูรผู้ชั่วร้ายตนนี้ เพราะไม่มีใครจะปราบมันได้ พระนารายณ์มหาเทพก็ทรงรับปากว่าจะช่วย แต่ทรงขอเวลาคิดหาหนทางปราบพญาอสูรก่อน ฝ่ายประหลาทกุมาร ผู้เป็นโอรสก็เพียรพยายามขอร้องให้บิดาเลิดเบียดเบียนผู้อื่น ฝ่ายพญาอสูรผู้บิดาก็หาเชื่อฟังไม่ จึงใช้พวกพราหมณ์อสูรทั้งหลายไปอบรมพระโอรส ให้มาเข้าข้างตนพระโอรสก็ไม่ยอม แม้จะพยายามอย่างใด พระโอรสก็ไม่ยอม.

จากความรักมากก็กลายเป็นความชังมาก จึงสั่งให้จัดการฆ่าโอรสของตนเสีย แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ๆ ก็ไม่สามารถฆ่าโอรสของตนได้ พญาหิรัณยกศิปุจึงถามโอรสตรง ๆ ว่าพระนารายณ์มหาเทพนั้นมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงและแน่จริงก็ปรากฎตัวออกมาเลย และทันใดในระหว่างนั้น เสาศิลากลางห้องท้องพระโรงก็แตกออกมา เป็น นรสิงห์

       นรสิงห์เป็นครึ่่งคนครึ่งสิงห์ ได้ปรากฎตัวขึ้นในเวลาสนธยาโดยแตกออกมาจากเสาศิลากลางห้องท้องพระโรงของ หิรัณยกศิปุ ปราดเข้ามาจับตัวหิรัณยกศิปุ ลากออกไปอยู่บริเวณธรณีประตู (คืออยู่ในปราสาทครึ่งตัว อยู่นอกปราสาทครึ่งตัว) และนรสิงห์ผู้นั้นก็ถามพญาอสูรว่า

  • ตนเป็นมนุษย์ เทวดา หรือสัตว์  พญายักษ์ตอบว่าไม่ใช่ทั้งมนุษย์ เทวดา และสัตว์
  • นรสิงห์ก็ถามต่อไปว่า เวลานี้ร่างของหิรัณยกศิปุอยู่นอกเรือนหรือในเรือน พญายักษ์ตอบว่า ไม่ใช่ทั้งในเรือนและนอกเรือน
  • นรสิงห์ถามต่อไปอีกว่า เวลานี้เป็นกลางวันหรือกลางคืน หิรัณยกศิปุตอบว่า มิใช่ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่เป็นเวลาโพล้เพล้
  • นรสิงห์จึงชูมือกางกรงเล็บออกมา ถามพญายักษ์ว่า อันนี้คืออาวุธหรือไม่ พญายักษ์ก็ตอบว่าไม่
  • นรสิงห์จึงประกาศว่า พรทั้งหลายของพระพรหมธาดาเป็นอันเสื่อมแล้ว และตัวพญาอสูรก็ตกอยู่ในภาวะอันนอกเหนือจากพรหมประกาศิตทุกประการแล้ว
        กล่าวจบ นรสิงห์ก็จัดการสังหารพญาอสูรด้วยการใช้กรงเล็บฉีกกระชากอกพญาอสูรจนถึงท้องจนขาดใจตาย
ขอบคุณที่มาจากการ สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *