สะพานควาย ชื่อนี้มีที่มา เป็นอย่างไร

ประวัติของสะพานควายและศรีศุภราชอาเขต

ทุ่งรวงทองอู่ข้าวอู่น้ำอันสมบูรณ์กว้างใหญ่ไพศาลของกรุงเทพมหานคร
ไม่มีที่ไหนเกินกว่า “ทุ่งศุภราช” อยู่ทิศเหนือของ “ทุ่งพญาไท”
ระหว่างคลองสามเสน กับ คลองบางซื่อ
มีคลองศุภราชอยู่กึ่งกลาง
คลองศุภราช ปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ติดกับวัดจันทร์สโมสร
หรือโรงเบียร์บุญรอดขณะนี้ กระจายน้ำให้ชาวนาทุ่งศุภราช
ทุ่งศุภราชจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ จากกระแสธารทั้งสาม
ปัจจุบันคลองศุภราช
ได้แปรสภาพเป็น “ซอยศุภราช ซอยเสนาร่วม” กับอีกหลายชื่อและหายไปบางตอน

ในอดีต ชาวนาใช้ควายเป็นเครื่องมือในการผลิต…
“นายฮ้อย” กับชาวนาจึงอยู่คู่กันเสมอ
เมื่อถึงฤดูแล้งว่างนา
นายฮ้อยจากอิสาน ก็ต้อนควายมาขายให้ชาวนาเลือกซื้อไว้ทำนา
ตัวไหนแก่เกินงานก็รอพ่อค้าโรงเชือด
ซึ่งอยู่ที่ถนนตกมาซื้อไปฆ่า

บริเวณทุ่งว่างชานเมือง ข้างคลองบางซื่อ ด้านใต้ฟากตะวันออก
ของถนนพหลโยธิน หน้าแล้งจึงเต็มไปด้วยฝูงควายของนายฮ้อย
ขณะนั้นฟากตะวันตกของถนนพหลโยธิน
มีถนนปฎิพัทธ์
ตัดมาเชื่อมกับ ถนนพหลโยธิน…
มีบ้านเรือนมากแล้ว เนื่องจากข้างถนนพหลโยธิน มีคูน้ำส่งน้ำจากคลองบางซื่อ ขวางสามแยกถนนปฎิพัทธ์ กับ ถนนพหลโยธิน
จึงทำสะพานให้ควายเดินข้าม โดยใช้ไม้พาดให้ควายข้ามคูส่งน้ำเข้าถนนปฎิพัทธ์ ต่างก็เรียกขานกันว่า “สะพานควาย”
ในธุรกิจซื้อขายควายของนายฮ้อยกับชาวนา และพ่อค้าโรงฆ่า
ได้ข้ามไปมากันได้สะดวก…

ขณะนั้นรถยนต์ยังมีน้อย เมื่อมีบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้น
มีรถโดยสาร และรถบรรทุก จำเป็นต้องผ่าน ถนนปฎิพัทธ์ กับ
ถนนพหลโยธิน ไม้พาดคลองส่งน้ำจึงเปลี่ยนเป็นสะพานไม้แทน
และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น สะพานคอนกรีตถาวร
ชื่อ… “สะพานควาย” เลยเรียกขานกันจนบัดนี้

ส่วนตึกศรีศุภราชมีที่มาดังนี้คือ
กว่า 48 ปีแล้วที่ คุณวิเชียร กลิ่นสุคนธ์
เจ้าของที่ดินติดสามแยกสะพานควาย ได้สร้างตลาดขึ้น
ใคร่จะเปลี่ยนชื่อสะพานควายเป็นนวัตกรรมใหม่ ได้ปรึกษา
กับหลวงบุณยมานพ หรือ “แสงทอง”
ว่าจะใช้ชื่ออะไรแทน

ท่านก็คิดชื่อ ที่มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ “ยมพาหนะ”
คือควายซึ่งเป็นพาหนะของพระยม
นายวิเชียร กลิ่นสุคนธ์
เห็นว่าชื่อนี้น่ากลัวกว่าเดิม จึงเพียรพยายามใหม่

ไปพบ พลเรือตรีหลวงสุวิญาน
อดีต ผอ.รพ.ทหารเรือ
ซึ่งเป็นโหรใหญ่ ท่านก็ศึกษาว่า ทุ่งศุภราช ซึ่งหมายถึงทุ่งโคศุภราช ก็ควรคงนามอันเป็นมงคลนี้ไว้โดยให้ตั้งชื่อตลาดนี้ว่า
“ตลาดศรีศุภราช” หรือศรีศุภราชอาเขต
มีประวัติจากท้องถิ่นมิให้เลือนหายไป และให้ตำนาน
“สะพานควาย” ย่านธุรกิจการเกษตรชานเมืองในอดีต
ของเขตพญาไท ปรากฏในความทรงจำตลอดไป…

ข้อมูลจากเวป​ Pantip

ที่มาของเนื้อหาและภาพ G+ นารายณ์อวตาร NARAYAN 6

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *